นาฎศิลป์

นาฎศิลป์
มารยาทในการชมการเเสดง
มารยาทในการชมการเเสดง
      มีลักษณะที่มักยึดถือกัน เพื่อแสดงความเป็นผู้มีวัฒนธรรมในการฟังดนตรี หรือที่รู้จักกันว่า “มรรยาทการชมการแสดงดนตรี ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมการแสดงควรปฏิบัติเพื่อความเรียบร้อย และให้เกียรติแก่ผู้แสดง และสถานที่ ดังต่อไปนี้

๑. การแต่งการเรียบร้อย

     ในการไปชมการแสดงดนตรีควรแต่งกายให้เรียบร้อย เหมาะสมโดยเฉพาะการแสดงดนตรีที่เป็นพิธีการมากๆ การแต่งการแบบสากลนิยมจัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการแสดงดนตรีทั่วๆไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถแต่งเครื่องแบบไปชมได้ ซึ่งถือว่าเป็นการแต่งกาย ที่เรียบร้อยเหมาะสมเช่นกัน

๒. การไปถึงสถานที่แสดงก่อนเวลา

     ถือเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติที่ผู้เข้าชมควรไปถึงสถานที่แสดงก่อนเวลา และนั่งตามที่นั่งให้เรียบร้อยก่อนการแสดงจะเริ่มต้น ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยก่อนที่การแสดงจะเริ่ม และไม่เป็นการรบกวนทั้งผู้ชมที่อยู่ข้างเคียง และผู้แสดง เพราะการมาสาย ทำให้การเข้านั่งตามที่รบกวนผู้นั่งข้างเคียง และบางครั้งก็เกิดเสียงดังขณะเข้านั่งที่ จนเป็นการรบกวนสมาธิผู้แสดงด้วย ดังนั้น ถ้ามาสายควรหาที่นั่งข้างหลัง จนเพลงที่บรรเลงจบลงก่อน แล้วหาโอกาสรอช่วงที่จะบรรเลงเพลงต่อไป รีบเข้านั่งตามเลขที่นั่งของตน อย่างไรก็ดี บางครั้ง หากเป็นการแสดงที่สำคัญๆ หรือเป็นการแสดงของนักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียงมากๆ ถ้าผู้ใดมาสาย ผู้เดินตั๋วก็อาจจะไม่อนุญาตให้เข้าไปในโรง เนื่องจากผู้แสดงต้องการสมาธิอย่างมาก และไม่ต้องการให้มีการรบกวนใดๆเกิดขึ้น ดังนั้น ผู้มาสายจึงจำเป็นจะต้องรออยู่นอกโรงก่อน จนกว่าเพลงจะจบ หรืออยู่ในช่วงที่สามารถจะเข้าไปยังที่นั่งของตนได้

๓. การอ่านสูจิบัตร

     การแสดงดนตรีประเภทที่มีเนื้อหาสาระ มักจะมีการจัดทำสูจิบัตรจำหน่าย ณ สถานที่ ผู้ชมควรซื้อสูจิบัตรอ่านรายละเอียดขณะรอเวลาเริ่มแสดงเพื่อทำความเข้าใจกับเพลงแต่ละเพลง ในรายการ รวมทั้งอ่านประวัติผู้แสดงที่ปรากฏอยู่ในสูจิบัตร เพื่อให้ทราบว่าผู้แสดงคือใคร เพราะการแสดงบางครั้งจุดเด่นอาจมิได้อยู่ที่บท เสียทีเดียว แต่อาจอยู่ที่ผู้แสดงที่มีชื่อเสียงก็เป็นได้

๔. การมีสมาธิในการชมการแสดง

    ขณะชมการแสดงควรมีสมาธิในการชมการแสดงอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงความไพเราะ คุณค่าของบทเพลง ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดความซาบซึ้งในบทเพลงนั้น ๆ ในขณะฟังเพลงไม่ควรสนทนา พูดคุย หรือปฏิบัติสิ่งใดให้เป็นที่รบกวนของผู้ชมข้างเคียง การสนทนาพูดคุย ควรทำขณะเพลงหนึ่ง ๆจบลง และมีช่วงเวลาที่ผู้แสดงเตรียมตัวที่จะบรรเลงเพลงต่อๆไป แต่ควรกระทำเท่าที่จำเป็น และควรใช้เสียงแต่เพียงเบา ๆ เพื่อให้รบกวนผู้ชมข้างเคียงน้อยที่สุด

๕. การปรบมือ

     เป็นมารยาทที่สำคัญของผู้ชมการแสดงดนตรีที่ควรปรบมือเป็นเวลานาน เมื่อมีการบรรเลงเพลงแต่ละเพลงจบ ไม่ควรปรบมือเมื่อการบรรเลงเพลงแต่ท่อนจบลง ปกติเพลงประเภท ซิมโฟนี คอนแชร์โต หรือ โซนาตา มักมีสามหรือสี่ท่อน เวลาบรรเลงจบแต่ละท่อน ผู้แสดงจะพักประมาณ ๑๐-๑๕ วินาที ในช่วงนี้ไม่ควรปรบมือ เมื่อการบรรเลงเพลงจบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงควรปรบมือเป็นเวลานาน เพื่อให้เกียรติแก่ผู้แสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพลงสุดท้ายจบลง ควรปรบมือเป็นเวลานานเพื่อให้เกียรติเป็นครั้งสุดท้าย การปรบมือนานทำให้ผู้อำนวยเพลงหรือผู้แสดงดนตรีเดี่ยวออกมาโค้งคำนับต่อหน้าผู้ชมบนเวทีหลายครั้ง หลังจากเดินเข้าโรงไปแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ทำให้ผู้แสดงรู้สึกถึงการให้เกียรติอย่างสูงสุดส่วนการแสดงดนตรีประเภทโอเปรา และบัลเล่ต์ เมื่อผู้ร้องเดี่ยว หรือ ผู้เต้นเดี่ยว ขับร้องหรือเต้นจบลง ผู้ชมควรปรบมือหรือแสดงความชื่นชมในช่วงนั้น ซึ่งถือเป็นมารยาทที่ควรปฏิบัติเพื่อให้เกียรติและชื่นชมในความสามารถของผู้แสดงในการขับร้อง หรือเต้นในช่วงนั้นการอ่านสูจิบัตร จะทำให้ทราบได้ว่าเพลงแต่ละเพลงมีกี่ท่อน และสามารถปรบมือได้ถูกต้องเมื่อเพลงจบลง การให้เกียรติด้วยการปรบมือและยืนขึ้นถือเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ โดยเฉพาะการปรบมือหลังจาการบรรเลงเพลงสุดท้ายของรายการแสดงดนตรีจบลง การปรบมือให้ผู้แสดงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ และไม่ควรเดินออกจากสถานที่แสดงทันทีที่เพลงสุดท้ายจบลงโดยไม่ปรบมือ เพราะโดยมารยาทแล้วถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้แสดง

๖. การพักครึ่งเวลา

     ปกติการแสดงประเภทนี้จะใช้เวลานาน จึงมีการพักครึ่งเวลา เพื่อให้ผู้แสดงและผู้ชมมีเวลาพักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ ๑๕-๒๐ นาที ในช่วงเวลาพักครึ่งเวลานี้ ผู้ชมควรเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยถ้าจำเป็น และควรกลับมายังที่นั่งของตนก่อนเวลาแสดงครึ่งหลังจะเริ่มต้น และในขณะที่มีการแสดงดนตรีอยู่ ผู้ชมไม่ควรลุกออกจากที่นั่งออกมาด้วยเหตุผลใดๆ โดยไม่จำเป็น

๗. การงดใช้เครื่องมือสื่อสาร

     ปัจจุบันเครื่องมือสื่อสารทั้งวิทยุติดตามตัว และโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มีประจำตัว ในขณะชมการแสดงทั่ว ๆ ไป จึงมักจะได้ยินเสียงจากเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้อยู่เสมอ สภาพเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในขณะชมการแสดงดนตรีประเภทนี้ เนื่องจากเสียงสัญญาณดังกล่าวจะรบกวนสมาธิทั้งของผู้ฟังและผู้แสดง จึงควรถือปฏิบัติมารยาทด้วยการงดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกประเภทตลอดเวลาในขณะชมการแสดง

๘. การนำเด็กเข้ามาชมการแสดง

     ไม่ควรนำเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี เข้าชมการแสดง ยกเว้นบางรายการที่อนุญาต เป็นกรณีพิเศษ

๙. การถ่ายภาพการแสดง

     ไม่ควรนำกล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายวีดิโอ เข้าไปบันทึกการแสดงในหอประชุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เพราะการแสดงของต่างประเทศหลายประเทศมีลิขสิทธิ์เฉพาะ ไม่อนุญาตให้มีการบันทึกไปเผยแพร่โดยบุคคลภายนอก หรือบ่อยครั้ง แม้จะไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ แต่แสงแฟลชจะรบกวนสมาธิทั้งผู้ชมและผู้แสดง

๑๐. งดการนำอาหาร และ เครื่องดื่มทุกประเภทเข้าไปในหอประชุม

     เพราะนอกจากอาหารบางประเภทจะส่งกลิ่นรบกวนผู้อื่น ตลอดจนการแกะหีบห่อและการขบเคี้ยวจะทำให้เกิดเสียงดังแล้ว เศษอาหารและเครื่องดื่มยังทำให้มด แมลงสาบ หรือหนูมาซ่อนตัว และกัดที่นั่งในโรงให้เสียหายอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานในโรงยกเว้นโรงกลางแจ้ง หรือที่ซึ่งได้รับการอนุญาตให้นำเข้าไปได้
                                             
                                                                                             

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คณิตศาสตร์

ภาษาจีน

ศิลปะ